Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย

Research

TARC ร่วมจัดห้องย่อย“ถนนยุคใหม่ ใส่ใจผู้ใช้ทาง” ในงานสัมมนาระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่11

Sponsor:  ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)
Date:  Wednesday, December 11, 2013

ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ผู้จัดงานสัมมนาหลัก ภายใต้ธีม “สิทธิกับความปลอดภัยทางถนน”  พร้อมทีมงานจากเครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร วันที่ 11-12 ธันวาคม 2556

ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย (TARC) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่รับหน้าที่หลักในการจัดสัมมนาห้องย่อย “ถนนยุคใหม่ ใส่ใจผู้ใช้ทาง” กิจกรรมภายในงาน วันแรกเป็นเวทีเสวนาของตัวแทนผู้ใช้รถใช้ถนนกลุ่มประเภทต่างๆ โดย ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อคุณภาพชีวิต เป็นตัวแทนจากกลุ่มผู้ใช้จักรยาน และคุณธีรยุทธ สุคนธวิทตัวแทนเครือข่ายบุคคลพิเศษบุคคลพิการ เป็นผู้ร่วมเสวนา รวมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการออกแบบถนนของประเทศไทย ดร.ดนัย เรืองสอน ผอ. แขวงการทางกรุงเทพ และอดีตส.ส. อรรถวิชช์ สุวรรณภักดีเป็นผู้แทนจากภาคการเมือง โดยมีคุณกฤษณะ ละไล พิธีกรและนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง หนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จนทำให้ขาทั้ง 2 ข้างใช้การไม่ได้ เป็นผู้ดำเนินการเสวนานี้ โดยทุกฝ่ายร่วมถกประเด็นเสวนาสิทธิของผู้ใช้รถใช้ถนน สภาพปัญหาในปัจจุบัน และร่วมเสนอแนวทางแก้ไขร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกกลุ่ม และต่อด้วยตัวอย่างการจัดการถนนที่เอื้อต่อผู้ใช้ทางในกลุ่มผู้สูงอายุ คนเดินเท้า และผู้ขับขี่รถจักรยานและจักรยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับเกียรติจาก Prof. NAKATSUJI Takashi ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโดเป็นผู้นำเสนอวิธีการนี้

ผู้ร่วมเสวนา Nakatsuji

ขณะที่รูปแบบงานในวันที่สองเป็นการนำเสนอตัวอย่างการจัดการถนนที่ดีจาก 4 หน่วยงาน ได้แก่

  1. วัตถุอันตรายข้างทางและอุบัติภัยจราจร จากกรมทางหลวง
  2. การประยุกต์ใช้วงเวียนในการปรับปรุงจุดเสี่ยงบริเวณแยก จากกรมทางหลวงชนบท
  3. การใช้วงเวียนในเขตเมือง จากเทศบาลเมืองเชียงใหม่
  4. การจัดการความเร็วบนทางด่วนด้วยระบบอัจฉริยะ จากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

และปิดท้ายกิจกรรมภายในห้องด้วยนิทรรศการจาก 4 หน่วยงานข้างต้น และผลงานการศึกษาและงานวิจัยที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานท้องถิ่น ในช่วงท้ายกิจกรรมนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้พูดคุย ซักถามประเด็นที่สนใจกับตัวแทนจากหน่วยงานที่ร่วมนำเสนอผลงานนิทรรศการได้อย่างเต็มที่ด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง นอกจากนี้ห้องถนนยุคใหม่ฯ มีการดึงดูดผู้เข้าร่วมด้วยการตกแต่งและจำลองถนนภายในห้อง รวมถึงทางเข้าให้ตอบรับกับการใช้งานของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย