Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย

Research

มาตรการใช้ถนนร่วมกันให้ปลอดภัย

Source:  คอลัมน์เดินหน้าเลี้ยวซ้าย เดลินิวส์
Published Date:  Sunday, April 26, 2015

มาต่อการเสวนา บทเรียนจากอุบัติเหตุซ้ำซากบนถนนเมืองไทย

คุณหมอธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงสถิติของอุบัติเหตุจราจรของผู้ใช้รถจักรยานว่า ช่วง ปี 2554 ถึง 2557 สถิติคดีลดจากระดับพันกว่าคดีเหลือไม่เกิน 400 คดี ในจำนวนดังกล่าว มีกรณีของนักปั่นสามีภรรยาชาวอังกฤษที่เสียชีวิตเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ยังไม่นับคนไทยทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ทั้งนี้ยังไม่นับเรื่องน่าตกใจไปกว่า คือ เรื่องของบทลงโทษ ยกตัวอย่างคดีของนักปั่นชาวอังกฤษที่เสียชีวิตไป บทลงโทษของคดีปรับเบื้องต้น 1,000 บาท หรือคิดเป็นเงินสกุลอังกฤษที่ 18 ปอนด์ พร้อมรอลงอาญา

ทั้งนี้ คุณหมอธนะพงศ์ กล่าวว่า เมื่อดูปัจจัยและองค์ประกอบของอุบัติเหตุที่เกิดกับคนใช้ถนนร่วมกันกับรถ จะพบว่า รถใช้ความเร็วสูง แม้จะเป็นพื้นที่ชุมชน และหน้าโรงเรียนเขตเมือง ความเร็วตามกฎหมาย 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่รถจักรยานที่ถูกชนด้วยความเร็วเพียง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมีโอกาสเสียชีวิตถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ถนนในเมืองส่วนใหญ่ไม่บอกความเร็วชัดเจนรถใหญ่ วิ่งผ่านชุมชน โดยเฉพาะในช่วงเช้า–เย็น จักรยานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน บางส่วนยังขาดการติดตั้งไฟส่องสว่าง และสะท้อนให้รถที่ขับตาม หรือสวนทางเห็นได้ชัดเจน บริเวณไหล่ทาง หรือช่องทางซ้าย ยังพบความเสี่ยงของรถที่วิ่งย้อนศร แซงไหล่ทาง รวมทั้งสิ่งกีดขวาง (ซ่อมทาง จอดไหล่ทาง ร้านค้า
ริมทาง)

เพราะฉะนั้นเราต้องมาทบทวนนำเอามาตรการที่จะทำให้คนขี่จักรยาน และทุกคนที่ใช้ถนนร่วมกันมาใช้ให้เกิดความปลอดภัย ที่สำคัญ ๆ เช่น ถนนในพื้นที่เขตเมือง ต้องจัดการความเร็วรถยนต์ โดยตำรวจและหน่วยงานที่ดูแลทางต้องจัดเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัย ส่งเสริมให้ผู้ใช้รถยนต์ใช้ถนนร่วมกับจักรยานอย่างปลอดภัยด้วยการให้ความรู้ตั้งแต่การสอบใบขับขี่ และเร่งจัดระบบข้อมูล การสอบสวนสาเหตุที่เกิดกับจักรยาน เช่นนี้เป็นต้น

คุณหมอวิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและโรงพยาบาลขอนแก่น ผู้อำนวยการ ประธานคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวว่า ผลการประชุมเตรียมงานขององค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นการเตรียมการประชุม The 2nd Global ministerial Meeting for Road Safety 2015 ที่จะประชุมที่กรุงบราซิเลียในปีหน้า หลังจากที่ประชุมครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2011 ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซียโดยครั้งนั้นมีประเทศที่เข้าร่วมกว่า 180 ประเทศ มีผลออกมาให้ทุกประเทศทั่วโลกต้องมีนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน เพราะมีอัตราสุ่มเสี่ยงและสูญเสียมากมายทั่วโลกปีละกว่า 1.3 ล้านคน ไม่นับคนพิการจำนวนมหาศาล

มีต่ออีกครับ.

 

ไฟเหลือง
failuang@dailynews.co.th