Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย

Research

โครงการศึกษาแนวทางงานวิจัยด้านความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์

Sponsor:  ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน
Status:  Completed
Project period:  May-December 2015

จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่ารถจักรยานยนต์เป็นรถที่มีตัวเลขของการเกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด  โดยในช่วงปี พ.ศ. 2545-2554 อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์มีปริมาณสูงถึงร้อยละ 40 ของจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งจากข้อมูลทางสถิติที่รายงานโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์มีจำนวนสูงถึงร้อยละ 40 และ 77 ของจำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมดในประเทศไทยตามลำดับ และตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี ซึ่งสาเหตุที่คาดว่าทำให้เกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์โดยส่วนใหญ่ได้แก่ การใช้ความเร็ว การขับขี่ขณะเมาสุรา การฝ่าฝืนกฏจราจร การขาดความระมัดระวังในการขับขี่ และการขาดทักษะในการควบคุมรถจักรยานยนต์ขณะเลี้ยวและชะลอความเร็ว

แม้ว่าการใช้รถจักรยานยนต์จะให้ความคล่องตัว สามารถควบคุมให้เปลี่ยนทิศทางได้อย่างว่องไว และผู้ขับขี่สามารถชะลอและหยุดรถได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อเปรียบเทียบกับยานพาหนะประเภทอื่นๆ ลักษณะทางกายภาพและข้อจำกัดของรถจักรยานยนต์ที่ไม่สามารถป้องกันหรือลดโอกาสการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้ขับขี่เนื่องจากอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยประการสำคัญที่ส่งผลทำให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยเมื่อมีอุบัติเหตุหรือการชนเกิดขึ้น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จะสัมผัสกับความรุนแรงจากการชนหรือกระแทกโดยตรง ในขณะที่รถยนต์ส่วนบุคคลจะมีส่วนประกอบต่างๆของตัวถัง พร้อมทั้งอุปกรณ์นิรภัยต่างๆ อาทิเช่น ถุงลมนิรภัยและเข็มขัดนิรภัย ที่ช่วยปกป้องและดูดซับพลังงานและความรุนแรงจากการชนให้แก่คนขับและผู้โดยสารที่อยู่ภายในตัวรถ นอกจากในเรื่องความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสารแล้ว เสถียรภาพในการทรงตัวที่ดีกว่าเนื่องจากการขับเคลื่อนบนฐานทั้งสี่ล้อ ทัศนวิสัยในการขับขี่ที่ดีกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะฝนตก และขนาดของตัวรถที่ใหญ่กว่าซึ่งทำให้เป็นที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ยังทำให้การขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลหรือยานพาหนะสี่ล้อประเภทอื่นๆมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับรถจักรยานยนต์ ถึงแม้ว่าจะจำเป็น็นต้องแลกกับสนนราคาที่สูงกว่าหลายเท่าตัว

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทั้งบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์และหน่วยงานวิจัยต่างๆ ในต่างประเทศ ได้พยายามค้นคว้าเพื่อหาแนวทางในการเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ แต่ในประเทศไทยกลับพบว่ามีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัยของรถจักยานยนต์อยู่ค่อนข้างน้อย งานวิจัยส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นไปในเรื่องของพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยสำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ดังนั้นโครงการนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนสถานการณ์อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในปัจจุบัน รวมถึงผลงานวิจัยด้านความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ที่ผ่านมา เพื่อนำไปกำหนดแนวทางการพัฒนางานวิจัย เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้รถจักรยานยนต์ต่อไป

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  • เพื่อทบทวนสถานการณ์อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในปัจจุบัน รวมถึงผลงานวิจัยด้านความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ที่ผ่านมา
  • เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนางานวิจัย สำหรับส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์
  • เพื่อส่งเสริมให้มีการขับเคลื่อนมาตรการ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์