Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย

Research

โครงการ การพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทาง ถนนในชุมชน

Good Practice Development on Road Safety Countermeasures in Communities
Sponsor:  ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
Status:  Completed
Project period:  2013

การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนนั้น ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหลายปีโดยหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ได้ดำเนินกิจกรรมตามมาตรการด้านการศึกษา (Education) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) และ ด้านวิศวกรรม (Engineering) โดยมาตรการทางด้านวิศวกรรมนั้น ได้มุ่งเน้นไปที่มาตรการวิศวกรรมความปลอดภัยทางถนนเป็นหลัก ในปัจจุบัน พบว่ามีการประยุกต์ใช้แนวทางปฏิบัติทางด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทางถนนในหลายพื้นที่เพื่อลดอุบัติเหตุและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางถนน  แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับพบว่าแนวทางปฏิบัติบางประเภทที่นำมาใช้ในปัจจุบันอาจมีความเหมาะสมสำหรับบริเวณเฉพาะในบางพื้นที่ การนำแนวทางปฏิบัติเหล่านี้มาใช้ในพื้นที่ที่มีลักษณะต่างกัน อาจได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพต่างกัน หรือไม่สามารถลดอุบัติเหตุและความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้เลย ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การนำรูปแบบวงเวียนมาใช้ในบริเวณทางแยก มีความเหมาะสมสำหรับใช้ในบริเวณทางแยกที่มีขนาดเล็กและมีปริมาณจราจรต่ำ ซึ่งวงเวียนขนาดเล็กนี้จะสามารถลดการตัดกันของกระแสจราจร ลดความเร็วของรถที่เข้าวงเวียน และลดโอกาสเสี่ยงและความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุได้ แต่อย่างไรก็ดี รูปแบบวงเวียนกลับไม่เหมาะสมสำหรับทางแยกที่มีขนาดใหญ่และมีปริมาณจราจรค่อนข้างมาก เนื่องจากอาจทำให้เกิดความสับสนและเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นการเลือกใช้แนวทางด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทางถนนโดยเฉพาะพื้นที่ในชุมชน ควรจะต้องมีการเลือกใช้ให้มีความเหมาะสมกับสถานที่ ปริมาณจราจร และปัจจัยภายนอกอื่นๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น

เนื่องจากแนวทางปฏิบัติทางด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทางถนน มีหลากหลายวิธี ในโครงการนี้จึงเลือกพิจารณาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในเขตชุมชนเป็นหลัก โดยมุ่งเน้นพื้นที่ในชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น บริเวณหน้าโรงเรียน ทางแยก และถนนทางตรงในเขตชุมชน ดังนั้นการศึกษานี้จึงมุ่งที่จะนำแนวทางปฏิบัติเหล่านี้มาใช้จริงในชุมชน มีการติดตามและประเมินผลของแนวทางปฏิบัติ และมีการจัดทำชุดความรู้ในการนำแนวทางปฏิบัตินั้นๆ ไปใช้กับพื้นที่อื่น ทั้งนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่แนวทางปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในชุมชนต่อไป

ในโครงการนี้จะมุ่งเน้นแนวทางปฏิบัติ 3 แนวทาง ได้แก่ การใช้วงเวียน การออกแบบทางข้ามหน้าโรงเรียน และการใช้เกาะสีเพื่อแบ่งทิศทางจราจรสำหรับถนนในชุมชน

เป้าหมายและวัตถุประสงค์

  1. เพื่อทดลองนำแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมมาใช้สำหรับวิศวกรรมด้านความปลอดภัยทางถนนในชุมชน
  2. เพื่อติดตามและประเมินผลแนวทางปฏิบัติที่นำมาใช้
  3. เพื่อพัฒนาชุดองค์ความรู้ในการใช้แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม สามารถนำไปเผยแพร่เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับชุมชน