Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย

Research

โครงการการใช้ความเร็วในการขับขี่ที่ปลอดภัย

Safety Driving Speed
Sponsor:  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
Status:  Completed
Project period:  2008

อุบัติเหตุทางถนนก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชากรไทยเป็นอย่างมาก ในแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนกว่า 13,000 ราย ไม่รวมผู้บาดเจ็บที่ไม่สามารถประมาณการตัวเลขอย่างเป็นทางการได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ประเมินได้ว่าอุบัติเหตุทางถนนก่อให้เกิดความสูญเสียถึง 232,855 ล้านบาทต่อปี (กรมทางหลวง, 2007)

เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนประกอบไปด้วย ความผิดพลาดของผู้ใช้ถนน ความบกพร่องของรถ ถนนและสิ่งแวดล้อม โดยอาจเกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง หรืออาจเกิดปัจจัยร่วมประกอบกันเป็นเหตุการณ์ลูกโซ่ จากสถิติอุบัติเหตุจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2545 – 2549 พบว่า สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ 3 อันดับแรก (ไม่พิจารณา “อื่นๆ”) ได้แก่ ขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด ตัดหน้ากระชั้นชิด และแซงรถผิดกฎหมาย (ทั้ง 3 สาเหตุ คือ ความผิดพลาดของผู้ขับขี่) มีจำนวนมากกว่าหนึ่งในสามของสาเหตุอุบัติเหตุทั้งหมด (39.5%)

มากไปกว่านั้น ความเร็วยังเป็นตัวเพิ่มความรุนแรงของอุบัติเหตุ จากสถิติในประเทศอังกฤษพบว่า หากผู้ขับขี่ขับรถยนต์ที่ความเร็ว 48 กม./ชม. ชนคนเดินเท้า โอกาสที่คนเดินเท้าจะเสียชีวิตมีเพียง 20% ในขณะที่หากชนที่ความเร็ว 64 กม./ชม. จะทำให้คนเดินเท้ามีโอกาสเสียชีวิตถึง 90% (Directgov) นอกจากนั้น การศึกษาในประเทศสวีเดนพบว่า ในทุกๆ ความเร็วที่เพิ่มขึ้น 10% จะเพิ่มพลังงานในการปะทะ 21% และเพิ่มความรุนแรงของอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตถึง 46% (Swedish Road Administration)

จากข้อมูลสถิติทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยืนยันได้ว่า การขับรถเร็ว (Speeding) เป็นปัจจัยสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เพราะเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ใช้รถโดยตรง แม้มาตรการในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จะมีความหลากหลาย และถูกนำมาใช้ในทางปฎิบัติแล้วในต่างประเทศ แต่มิได้เป็นเครื่องยืนยันว่าความสำเร็จของการแก้ปัญหาในต่างประเทศจะเหมาะสมกับสภาพการใช้รถใช้ถนนในประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซียและศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงเสนอโครงการเพื่อศึกษามาตรการในการส่งเสริมการใช้ความเร็วในการขับขี่อย่างปลอดภัย

เป้าหมายและวัตถุประสงค์

เป้าหมายหลักของโครงการ คือ ส่งเสริมให้ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วที่เหมาะสม เพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและความรุนแรงจากอุบัติเหตุ

โดยวัตถุประสงค์ มีดังต่อไปนี้

  1. เพื่อให้ผู้ขับขี่ตระหนักถึงความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจริงอันเนื่องมาจากการขับรถเร็ว
  2. เพื่อให้เกิดความเข้าใจพฤติกรรมและตระหนักถึงปัญหาการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่
  3. เพื่อเสนอแนะมาตรการการแก้ไขปัญหาการขับรถเร็ว
  4. เพื่อประชาชนมีความเข้าใจในการใช้ความเร็วที่ปลอดภัยในการขับขี่

การวิจัยนี้ แบ่งเป็นสี่หัวข้อ ได้แก่ 1) การศึกษาความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับความเร็ว 2) การศึกษาทัศนคติของผู้ขับขี่ที่มีต่อความเร็วในการขับขี่ 3) การศึกษาพฤติกรรมการขับขี่ที่เปลี่ยนแปลงเมื่อมีการดำเนินมาตรการต่างๆ และ 4) การเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนผ่านทางสื่อออนไลน์และเวทีสาธารณะ