Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย

Research

ผุดถนนแห่งรอยยิ้ม 5 สาย ลดปัญหาจราจร

Source:  Manager Online
Published Date:  Tuesday, June 5, 2012
ภาคเอกชนจับมือภาครัฐและภาคีเครือข่ายผุดถนนนำร่อง 5 ภูมิภาค 5 เส้นทาง เป็นถนนแห่งรอยยิ้ม ช่วยลดอุบัติเหตุ พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนทั้ง 5 จังหวัด เป็นต้นแบบของผู้ขับขี่อย่างถูกต้องตามกฎจราจร ตำรวจหนุนช่วยแบ่งเบาภาระ
 
ผุดถนนแห่งรอยยิ้ม 5 สาย ลดปัญหาจราจร

       วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่โรงแรมเรอเนสซองซ์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการถนนแห่งรอยยิ้ม (Smiling Road) ระหว่างบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กรมทางหลวง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะทำงานโครงการสนับสนุนดำเนินงานป้องกันปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดนำร่อง (สอจร) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (ศวปถ.) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เพื่อปรับปรุงถนนให้ปลอดภัยใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย
       
       นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า กล่าวว่า ในโอกาสที่โตโยต้าครบรอบ 50 ปี มีความตั้งใจที่จะบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ลูกค้า ชุมชน และผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า รวมทั้งส่งเสริมนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับทศวรรษแห่งการลงมือทำเพื่อความปลอดภัยทางถนน (Decade of Road Safety : Time for Action) และสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ด้วยการสร้างสรรค์โครงการต้นแบบ “ถนนแห่งรอยยิ้ม” (Smiling Road) ภายใต้แนวคิดถนนต้นแบบที่มีความปลอดภัยผสานด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับชุมชน หรือ Eco Safety Road เป็นการดำเนินงานภายใต้เครือข่ายความปลอดภัยทางถนน และเครือข่ายเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ สร้างถนนต้นแบบที่มีความปลอดภัย ลดจุดเสี่ยงอันตรายที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับชุมชน และสร้างชุมชนที่ยั่งยืนโดยรอบถนนแห่งรอยยิ้ม ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำถนนใน 5 ภูมิภาค 5 เส้นทางได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ บริเวณวงเวียนหน้าสนามกีฬาเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี บริเวณข้างโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ภาคกลาง จ.สมุทรปราการ บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์ช้างสามเศียร ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา บริเวณทางแยกศรีโสธร-ศรีโสธรใหม่- เทพคุณากร และภาคใต้ ที่ จ.ชุมพร บริเวณทางเข้าปากน้ำชุมพร (เขามัทรี) โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2555
       
       พล.ต.ท.บริหาร เสี่ยงอารมณ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ปป.31) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยแบ่งเบาภาระการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในการรักษาชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทั้ง 5 จังหวัด เป็นต้นแบบของผู้ใช้รถใช้ถนนที่มีพฤติกรรมการขับขี่อย่างถูกต้องตามกฎจราจรอีกด้วย
 

ผุดถนนแห่งรอยยิ้ม 5 สาย ลดปัญหาจราจร

       ด้านนายแพทย์ วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานคณะทำงานโครงการสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดนำร่อง (สอจร.) กล่าวว่า จากตัวเลขความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนวันละ 25-30 คน หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 1 คน ซึ่งยังไม่รวมผู้พิการรายใหม่ปีละกว่า 5,000 ราย หรือแม้แต่ผู้ป่วยโรค HIV วัณโรค และโรคมาเลเรีย 3 โรคนี้ รวมกันยังไม่เท่าการสูญเสียจากอุบัติเหตุเป็นปัจจัยเพียงอย่างเดียว ดังนั้น การดำเนินงานโครงการถนนแห่งรอยยิ้มจะเป็นอีกโครงการที่สำคัญที่จะช่วยจุดประกาย และขับเคลื่อนความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ โดยใช้แนวทางการทำงานที่ช่วยเสริมความเข้มแข็งใน 3 ด้านหลัก คือ ความเข้มแข็งในเชิงนโยบายควบคู่กับการร่วมมือจากภาคประชาสังคมด้วยการอาศัยองค์ความรู้จากภาควิชาการเพื่อเป็นฐานในการสร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น และเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ช่วยเสริมสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่าง คน รถ และสภาพแวดล้อม ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
       
       สำหรับการดำเนินงานถนนแห่งรอยยิ้มนั้น จะอาศัยหลักการทางวิศวกรรมความปลอดภัยทางถนน (Traffic Engineering) และภูมิสถาปัตย์ (Landscape Architecture) ซึ่งนำองค์ความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อมมาจัดวางองค์ประกอบทางธรรมชาติอย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน (Road Safety) โดยจะประยุกต์ใช้วงเวียนในถนนของชุมชน (Roundabout) เพื่อลดความเร็ว และการติดตั้งแถบสะเทือนไหล่ทาง (Longitudinal Rumble Strips) เพื่อเป็นการเตือนผู้ขับขี่เมื่อรู้สึกเหนื่อยล้าและเกิดความง่วง พร้อมทั้งสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านจราจรและส่งเสริมให้เกิดความมีวินัยและน้ำใจในการใช้รถใช้ถนนไปสู่วัฒนธรรมแห่งความปลอดภัยของชุมชน และด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) จะเลือกใช้วัสดุนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การใช้สี “Photo Catalytic” ซึ่งจะช่วยดูดอากาศเสียเปลี่ยนเป็นอากาศดี โดยการช่วยปล่อยก๊าซออกซิเจน ช่วยให้ชุมชนได้รับอากาศที่ดี การออกแบบที่คำนึงถึงการใช้วัสดุรีไซเคิล หรือวัสดุที่มีความสามารถในการดูดซับสารประกอบอินทร์ย์ไอระเหย (VOCs) จากรถยนต์ได้ ขณะเดียวกัน ในแง่ความสวยงามของทัศนียภาพจะมีการปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ต้นไม้มีคุณสมบัติในการช่วยลดค่ามลพิษทางอากาศได้ โดยคำนึงถึงภูมิสถาปัตย์ทางถนนที่เหมาะสมกับการจราจรอีกด้วย
       
       นอกจากนั้น ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดชุมชนที่ยั่งยืนโดยรอบถนนแห่งรอยยิ้ม ด้วยการให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการถนนแห่งรอยยิ้ม ไม่ว่าจะเป็นการเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงถนน การร่วมปลูกต้นไม้ในชุมชุน การนำวัสดุอุปกรณ์หรือสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่นมาเป็นส่วนหนึ่งในการก่อสร้างวงเวียนและโดยรอบของถนน ซึ่งจะก่อให้เกิดความหวงแหนและร่วมกันดูแลรักษาของคนในชุมชนเอง