Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย

Research

เตือนน้ำรถขนปลาทำถนนลื่นทำยอดอุบัติเหตุพุ่ง วอนหามาตรการป้องกัน

Source:  Manager Online
Published Date:  Monday, August 8, 2011

สสส.-ศวปถ.เตือนภัยน้ำจากรถขนปลาทำถนนลื่น ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจากจราจรสูง เผยพบแล้วสมุทรสาครอุบัติเหตุพุ่ง 7 เท่า แนะต้องหมั่นล้างถนน วอนผู้ประกอบการ หามาตรการป้องกัน
       
       ผศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) เปิดเผยผลการศึกษา เรื่อง “งานศึกษาค่าความเสียดทานของผิวทางที่มีผลต่อความปลอดภัยทางถนน กรณีศึกษา ผลกระทบของน้ำเมือกปลาบนถนนพระราม 2 จ.สมุทรสาคร” สนับสนุนโดย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ได้วิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุในเชิงลึก หลังพบว่า ระหว่างปี 2544-2551 ถ.พระราม 2 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร มีอุบัติเหตุอันตรายข้างทางหรืออุบัติเหตุรถตกข้างทางมากกว่า ถ.พระราม 2 ที่ตัดผ่านจ.สมุทรสงครามถึง 7 เท่า อัตราการตายมีมากกว่าถึง 6 เท่า เพราะถนนพระราม 2 ที่ผ่านสมุทรสาคร มีรถบรรทุกขนส่งปลาและอาหารทะเลเป็นจำนวนมาก จึงสันนิษฐานว่า น้ำเมือกปลาที่ไหลลงมาบนถนนทำให้ถนนลื่น และเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
       
       ผศ.ดร.กัณวีร์กล่าวด้วยว่า ได้ศึกษาค่าความเสียดทานที่ปลอดภัยของผิวทาง ทำการทดสอบภาคสนามหน้าตลาดทะเลไทย และทางเข้าตัวเมืองสมุทรสาครใช้เครื่องมือเฉพาะในการวัดค่าความเสียดทานของผิวถนนที่ตำแหน่งใต้ร่องล้อด้านซ้าย ผลการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ในกรณีไม่ได้ทำความสะอาดคราบเมือกปลา ถนนจะมีค่าความเสียดทานต่ำกว่าค่ามาตรฐานถึง 20-50% และหลังทำความสะอาดคราบน้ำเมือกปลาออกจากผิวถนน ค่าความเสียดทานเฉลี่ยที่ได้สูงขึ้นถึงประมาณ 1.2-1.4 เท่า จากนั้นได้ทดลองทำความสะอาดโดยวิธีต่างๆ ทั้งกวาดและขัดด้วยน้ำเปล่า ราดด้วยน้ำยาอีเอ็ม ซึ่งพบว่าการทำความสะอาดผิวทางมีผลต่อการเพิ่มค่าความเสียดทาง ช่วยทำให้ผิวถนนลื่นน้อยลงได้
       
       “การศึกษาชี้ว่า พื้นที่ จ.สมุทรสาคร ในช่วงเวลาเช้ามีการขนส่งอาหารทะเลออกจากตลาด มีรถบรรทุกทั้ง 4 ล้อ และ 6 ล้อมีทั้งรถที่ปิดฝาภาชนะ และไม่ปิดฝาภาชนะ ซึ่งพบว่า ในจำนวนรถบรรทุกทั้งหมดที่วิ่งออกมาจากตลาดทะเลไทย มีจำนวนรถที่มีน้ำรั่วไหลลงสู่ผิวถนนถึง 60% ทำให้ผิวถนนมีสภาพแฉะ ลื่นและส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งจากการติดตามการจับกุมรถเหล่านี้ ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะถ้ามีการตั้งด่าน รถบรรทุกจะไม่เดินทางออกมา” ผศ.ดร.กัณวีร์กล่าว
       
       ผศ.ดร.กัณวีร์กล่าวว่า ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้น สามารถทำได้โดยการทำความสะอาดผิวทางที่มีการสะสมของคราบน้ำเมือกปลา แต่การล้างทำความสะอาดธรรมดาไม่สามารถขจัดคราบออกหมดได้ แต่ต้องใช้รถทำความสะอาดเคลื่อนที่ ที่มีการใช้อยู่ในต่างประเทศเพื่อทำความสะอาดผิวทางจากคราบสกปรกต่างๆ ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จะต้องควบคุมไม่ให้น้ำเมือกปลาไหลลงสู่ผิวถนน สามารถทำได้โดยการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยในการหาวิธีป้องกันการขนส่งปลา ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการบางรายที่เริ่มมีการดำเนินการดังกล่าวบ้างแล้ว แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ยังคงไม่ให้ความสำคัญของปัญหาและวิธีป้องกันปัญหาการรั่วไหลอยู่